บทความ เรื่อง Microwave Processing Technology for Food Safety and Quality

Microwave Processing Technology for Food Safety and Quality

บทความโดย รศ.ดร. สิริชัย ส่งเสริมพงษ์

Assoc.Prof.Dr. Sirichai Songsermpong

Food Science and Technology Department, Faculty of Agro-Industry, Kasetsart University

ในนิตยสาร innolab ฉบับเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2565

เทคโนโลยีการแปรรูปด้วยไมโครเวฟเป็นกระบวนการแปรรูปแบบใช้ความร้อนแบบใหม่ ปัจจุบันมีการใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมอาหารและในครัวเรือน การแปรรูปด้วยไมโครเวฟมีหลายประเภท ซึ่งรวมถึงการสเตอริไลซ์ การพาสเจอไรซ์ การละลายน้ำแข็ง การทำให้พองตัว การทำให้แห้งในสภาพบรรยากาศ การทำแห้งแบบสุญญากาศ การทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง การลวก การทอด การอบ และการสกัด ข้อได้เปรียบต่างๆ ทำให้เทคโนโลยีไมโครเวฟจัดเป็นเทคโนโลยีหลักที่ใช้ในปัจจุบันและในอนาคตอีก 5 ปีต่อไปในทวีปอเมริกาเหนือ ตามด้วยทวีปยุโรปในอีก 10 ปีข้างหน้า ตัวขับเคลื่อนหลัก คือ ผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง ความปลอดภัย และการยืดอายุการเก็บรักษา

กลไกการให้ความร้อนด้วยไมโครเวฟในอาหารส่วนใหญ่คือการหมุนแบบขั้วคู่ (dipolar rotation) และการโพลาไรซ์ของไอออน (ionic polarization) ในสภาวะที่มีน้ำและไอออน เมื่อสนามไฟฟ้าเคลื่อนที่กลับไปกลับมา (oscillate) รอบอาหาร โมเลกุลของน้ำไดโพล (dipole water) ในอาหารหมุน และโมเลกุลไอออนเคลื่อนที่ในทิศทางเดียวกับสนามไฟฟ้าความเข้มสูง การจัดเรียงใหม่จึงเกิดขึ้นเป็นจำนวนหลายล้านครั้งต่อวินาที และสร้างแรงเสียดทานภายในของอาหาร ทำให้อาหารเกิดความร้อนเชิงปริมาตร

ข้อได้เปรียบของการทำความร้อนด้วยไมโครเวฟทำให้เป็นกระบวนการทางเลือกแทนการให้ความร้อนแบบดั้งเดิม พลังงานไมโครเวฟส่งไปยังอาหารโดยตรงผ่านอันตรกิริยาระหว่างอาหารกับสนามแม่เหล็กไฟฟ้า ดังนั้น การใช้ไมโครเวฟทำให้อาหารได้รับความร้อนอย่างรวดเร็วและสม่ำเสมอ เนื่องจากความร้อนสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วถึงทุกจุดของอาหาร และการถ่ายเทพลังงานไม่ได้ขึ้นกับการ กระจายความร้อนจากพื้นผิว

📌 สมบัติไดอิเล็กทริกของอาหาร

สมบัติไดอิเล็กทริกเป็นสมบัติหลักที่แสดงความสามารถของอาหารในการเปลี่ยนพลังงานไมโครเวฟเป็นความร้อน สมบัติไดอิเล็กทริกของอาหารส่วนใหญ่ขึ้นกับความถี่ อุณหภูมิ ความชื้น และองค์ประกอบของอาหาร โดยทั่วไป อาหารมีสารอินทรีย์ น้ำ และเกลือ การเติมเกลือทำให้เกิดการสูญเสียไดอิเล็กทริกที่ความถี่เฉพาะมากขึ้น เนื่องจากไอออน น้ำ และเกลือทำหน้าที่เป็นตัวนำในสนามแม่เหล็กไฟฟ้า ในอาหารที่มีความชื้น สมบัติไดอิเล็กทริกเพิ่มขึ้นเมื่อความถี่เพิ่มขึ้น ในอาหารแช่แข็ง สมบัติไดอิเล็กทริกต่ำ และเพิ่มขึ้นเมื่ออุณหภูมิของส่วนที่หลอมเหลวเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีปริมาณน้ำสูง ส่วนไขมันและน้ำมันมีค่าคงที่ไดอิเล็กทริกและการสูญเสียไดอิเล็กทริกต่ำมาก ส่วนประกอบที่มีสมบัติไดอิเล็กทริกใกล้เคียงกันมีอัตราการเกิดความร้อนเท่ากัน ทำให้ความร้อนมีความสม่ำเสมอขึ้น

📌การปรับสมบัติไดอิเล็กทริกของอาหารเพื่อจัดการกับปัญหาการกระจาย อุณหภูมิไม่สม่ำเสมอ

 การกระจายอุณหภูมิที่ไม่สม่ำเสมอเป็นปัญหาหลักในการทำความร้อนด้วยไมโครเวฟ ทำให้อาหารบางชนิดเกิดความร้อนอย่างรวดเร็ว ในขณะที่อาหารชนิดอื่นๆ เกิดความร้อนต่ำกว่า เนื่องจากอาหารแต่ละชนิดมีสมบัติไดอิเล็กทริกที่ไม่เท่ากัน จึงมีการเสนอวิธีการต่าง ๆ เพื่อลดปัญหานี้ ได้แก่ การปรับสมบัติไดอิเล็กทริกของอาหาร การให้ความร้อนแบบไฮบริดที่ประกอบด้วยการทำความร้อนแบบดั้งเดิมกับการทำความร้อนด้วยไมโครเวฟ การควบคุมรูปทรงของอาหารให้โค้งมน ใช้ระยะห่างที่เหมาะสมและการวางแถบโลหะเพื่อเป็นตัวป้องกัน การใช้เตาอบไมโครเวฟที่ออกแบบอย่างเหมาะสม การจัดการรอบการให้ความร้อน และการลดพลังงานไมโครเวฟแล้วใช้ระยะเวลานานขึ้น การพาสเจอไรซ์และการสเตอริไลซ์อาหารที่ไม่เป็นเนื้อเดียวกันด้วยไมโครเวฟจะต้องทราบว่าส่วนประกอบอาหารใดมีอัตราการให้ความร้อนที่ช้าที่สุด และพัฒนาอาหารต้นแบบที่มีสมบัติไดอิเล็กทริกใกล้เคียงกันเพื่อเป็นตัวแทนของอาหารประเภทนั้น

📌 บรรจุภัณฑ์ของอาหารที่ใช้ไมโครเวฟได้

 การออกแบบบรรจุภัณฑ์

การออกแบบที่เรียบง่ายมักเลือกใช้รูปวงรีหรือกลมเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความร้อนสูงที่ขอบ (edge heating) ภาชนะรูปทรงสี่เหลี่ยมที่เป็นรูปทรงทั่วไปของถาดที่ใช้ในไมโครเวฟมักทำให้เกิดจุดร้อนที่สุดที่มุม ส่วนจุดเย็นที่สุดอยู่ตรงกลาง และใกล้ขอบถาดเย็นกว่ามุมเล็กน้อย จึงไม่แนะนำให้ใช้รูปทรงเช่นนี้ บรรจุภัณฑ์สำหรับฆ่าเชื้อด้วยไมโครเวฟควรทนความร้อนและแรงดันได้สูง ความหนาของบรรจุภัณฑ์จำกัดไม่สามารถหนามากได้เนื่องจากความลึกที่คลื่นไมโครเวฟทะลุทะลวงได้ในบรรจุภัณฑ์

 วัสดุบรรจุภัณฑ์

ในสหรัฐอเมริกา นิยมใช้กระดาษแข็งและพลาสติกทนร้อน (ถาด ถ้วย ถุง กล่อง) เป็นบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์อาหารไมโครเวฟเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากมีโครงสร้างที่แข็งแรง ประกบหลายชั้นได้ และพลาสติกมีความทนทานต่อน้ำและสารเคมี และสามารถปิดผนึกได้ โดยทั่วไป ใช้เอทิลีนไวนิลแอลกอฮอล์เป็นตัวกั้นออกซิเจน พลาสติกมักประกอบด้วยโพลิโพรพิลีน เอทิลีนไวนิลแอลกอฮอล์ และโพรพิลีน ที่มีความหนาแตกต่างกัน

 บรรจุภัณฑ์แบบแอ็กทิฟ

โดยทั่วไป บรรจุภัณฑ์แบบแอ็กทิฟพื้นฐานแบ่งออกเป็นสามส่วน ประกอบด้วยตัวกั้น ตัวรับ และตัวดัดแปลงสนาม (shields, susceptors and field modifiers) ตัวกั้นป้องกันอาหารจากการดูดซับความร้อนจากไมโครเวฟ ตัวรับเกิดความร้อนและถ่ายเทความร้อนไปยังพื้นผิวของอาหารที่ปรุงด้วยไมโครเวฟโดยการนำความร้อนเป็นหลัก ตัวดัดแปลงสนามทำหน้าที่ปรับการกระจายพลังงานไมโครเวฟ

📌 ประเทภและส่วนประกอบของเตาไมโครเวฟ

 เตาอบไมโครเวฟแบบใช้ในครัวเรือน

เตาอบไมโครเวฟแบบนี้ใช้กันในครัวเรือนทั่วโลก อย่างไรก็ตาม การกระจายสนามไฟฟ้าที่ไม่สม่ำเสมอในระบบไมโครเวฟเหล่านี้ทำให้เกิดความร้อนที่ไม่สม่ำเสมอในอาหาร การออกแบบถาดหมุนช่วยให้การกระจายความร้อนดียิ่งขึ้น

 เตาอบไมโครเวฟแบบต่อเนื่อง

เตาอบไมโครเวฟแบบต่อเนื่องระดับอุตสาหกรรมมีสองประเภท ประเภทแรกมีทั้งแบบทำงานด้วยโหมดเดี่ยวและทำงานแบบหลายโหมด โหมดเดี่ยวจะใช้แมกนีตรอน (magnetron) กำลังสูงเพียงตัวเดียว ส่งคลื่นไมโครเวฟผ่านท่อนำคลื่นเข้าสู่เตาอบ (cavity) มีอุปกรณ์ป้องกันที่เรียกว่า Circulator เพื่อป้องกันไม่ให้คลื่นไมโครเวฟสะท้อนกลับไปที่แมกนีตรอน นอกจากนั้น มีจูนเนอร์สำหรับปรับคลื่นส่วนใหญ่ผ่านเตาอบเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูง อาหารลำเลียงบนสายพานเทฟลอนและทำให้เกิดความร้อนในเตาอบ

เตาอบไมโครเวฟแบบต่อเนื่องหลายโหมดมีแมกนีตรอนจำนวนมากที่มีกำลังต่ำ (800–1,200 วัตต์) แมกนีตรอนสองตัวต่อโมดูล มีทั้งหมดสี่โมดูล แมกนีตรอนส่งคลื่นไมโครเวฟผ่านท่อนำคลื่นสั้นในแต่ละโมดูล สายพานเทฟลอนลำเลียงตัวอย่างอาหารผ่านคาวิตีของเตาไมโครเวฟและควบคุมความเร็วสายพาน ทำให้สามารถควบคุมเวลาให้ความร้อนได้ นอกจากนี้ยังมีแบบโหมดเดี่ยวซึ่งใช้แมกนีตรอนตัวเดียวกำลังวัตต์สูง

 เตาอบไมโครเวฟร่วมกับรังสีอินฟราเรด

เตาอบไมโครเวฟร่วมกับรังสีอินฟราเรด (IR) เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องเพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่อบโดยใช้ไมโครเวฟและอินฟราเรด การทำงานร่วมกันของพลังงานไมโครเวฟและการแผ่รังสีความร้อนด้วยรังสีอินฟราเรดสามารถลดเวลาในการอบและพลังงาน ทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นสีน้ำตาล เกรียม และมีคุณภาพที่ดี

 เตาอบไมโครเวฟสุญญากาศ

เตาอบไมโครเวฟสุญญากาศใช้แมกนีตรอน 6 ตัว ทำงานแบบหลายโหมด ใช้ถาดหมุนหรือออกแบบเป็นตะกร้าหมุนก็ได้ เตาอบแบบนี้จะมีคอนเดนเซอร์และปั๊มสุญญากาศร่วมด้วย

 การพาสเจอไรซ์และการฆ่าเชื้อด้วยอุณหภูมิสูงพิเศษด้วยไมโครเวฟแบบต่อเนื่องในท่อ

ในระบบนี้ ท่อเทฟลอนหรือท่อเซรามิก อยู่กลางของช่องทรงกระบอก ของเหลวไหลผ่านท่อเทฟลอน และคลื่นไมโครเวฟส่งไปยังช่องว่างคาวิตี ของเหลวถูกทำให้ร้อนในระยะเวลาสั้นๆ จึงเหมาะสำหรับการพาสเจอไรซ์และการฆ่าเชื้อด้วยอุณหภูมิสูงพิเศษ (UHT) ผลิตภัณฑ์ที่เป็นของเหลวหรือมีชิ้นอาหารในของเหลว

📌 เทคโนโลยีการแปรรูปด้วยไมโครเวฟเพื่อความปลอดภัยและคุณภาพของอาหาร

 ผลของการทำร้อนด้วยไมโครเวฟในการทำลายจุลินทรีย์และเอนไซม์

การทำลายจุลินทรีย์และเอนไซม์โดยใช้ไมโครเวฟเกิดจากความร้อนที่มาจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและอันตรกิริยากับอาหารทำให้เกิดความร้อนทำลายเอนไซม์ โปรตีน และกรดนิวคลีอิกเสียสภาพ นอกจากนั้น กรดนิวคลีอิกหรือดีเอ็นเอถูกทำลายที่อุณหภูมิสูงเช่นกัน ผลกระทบที่ไม่ใช่ความร้อนต่อจุลินทรีย์และการทำให้เอนไซม์ทำงานไม่ได้ส่วนใหญ่เกิดจากสนามไฟฟ้า สำหรับจุลินทรีย์ ผลกระทบที่ไม่ใช่ความร้อนส่งผลต่อการรั่วของเยื่อหุ้มเซลล์และการปล่อยโปรตีนภายในเซลล์ และในที่สุดสูญเสียความสมบูรณ์ของเซลล์ที่ไม่สามารถผันกลับได้

 ผลของการให้ความร้อนด้วยไมโครเวฟต่อโภชนาการและคุณภาพทางประสาทสัมผัส

เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ปรุงสุกโดยใช้วิธีการดั้งเดิม คุณภาพของผลิตภัณฑ์อาหารที่ใช้ไมโครเวฟจะดีกว่าเนื่องจากให้ความร้อนเร็วกว่าและประหยัดพลังงานได้มาก การอบแห้งด้วยไมโครเวฟมีอัตราการให้ความร้อนที่รวดเร็วและช่วยกำจัดออกซิเจน จึงเหมาะสำหรับผลิตภัณฑ์ผักเพื่อป้องกันการสูญเสียรสชาติ สารอาหารและคุณสมบัติเชิงหน้าที่ และเพื่อรักษาปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ และการดูดซึมของสารต้านอนุมูลอิสระ ลักษณะคุณภาพของเนื้อวัวแช่แข็งที่ละลายด้วยไมโครเวฟเป็นที่ยอมรับของผู้ทดสอบมากกว่าและมีการสูญเสียน้ำ (drip loss) ต่ำกว่า อาหารที่มีสารอาหารสูง เช่น เนื้อสัตว์และปลา การอบและย่างด้วยไมโครเวฟลดการสูญเสียวิตามิน เนื่องจากวิตามินไวต่อความร้อน และช่วยรักษาองค์ประกอบสารอาหารที่จำเป็นไว้ การพาสเจอไรซ์นมโดยใช้ไมโครเวฟเมื่อเทียบกับการให้ความร้อนที่มีน้ำเป็นตัวกลางให้ผลที่ไม่แตกต่างกัน

การแปรรูปด้วยไมโครเวฟ

 การใช้ไมโครเวฟช่วยในการพาสเจอไรซ์และการสเตอริไลซ์อาหารพร้อมรับประทานในภาชนะปิดสนิท

เทคโนโลยีพาสเจอไรซ์และสเตอริไลซ์อาหารในภาชนะปิดสนิทด้วยไมโครเวฟ ได้รับการพัฒนาเพื่อการถนอมอาหารที่มีคุณภาพสูงและช่วยยืดอายุการเก็บรักษา

การใช้ไมโครเวฟช่วยในการพาสเจอไรซ์: ช่วยทำลายจุลินทรีย์ก่อโรคและเอนไซม์บางชนิดโดยใช้ไมโครเวฟที่อุณหภูมิต่ำ (60-90 °C) โดยแปรอุณหภูมิและเวลา การเลือกให้ความร้อนทำให้อุณหภูมิในผลิตภัณฑ์ที่รับคลื่นไมโครเวฟสูงกว่าอุณหภูมิของของเหลวโดยรอบ จุลินทรีย์จึงถูกทำลายอย่างรวดเร็ว โดยคุณภาพอาหารไม่เปลี่ยนแปลง

การใช้ไมโครเวฟช่วยในการสเตอริไลซ์: ขึ้นอยู่กับค่า pH ของผลิตภัณฑ์อาหาร เนื่องจากความเป็นกรดช่วยควบคุมการเจริญเติบโตของสปอร์ เช่น อาหารที่มีความเป็นกรดสูง pH ≤ 4.6 สามารถฆ่าเชื้อได้ที่อุณหภูมิ 80–90 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลาหนึ่ง ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารที่มีความเป็นกรดต่ำ pH > 4.6 ผ่านอุณหภูมิประมาณ 121 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้ปลอดเชื้อในทางการค้า และสามารถเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้องได้ การใช้ไมโครเวฟช่วยในการสเตอริไลซ์ (MATS) ในอาหารพร้อมรับประทานในบรรจุภัณฑ์ปิดสนิทได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USFDA) ผลิตภัณฑ์แรกที่ได้รับอนุมัติคือมันบด เป็นตัวแทนอาหารที่มีลักษณะเป็นเนื้อเดียวกัน ผลิตภัณฑ์ที่สองคือปลาแซลมอนในซอสอัลเฟรโด เป็นตัวอย่างอาหารที่ไม่เป็นเนื้อเดียวกัน ผลิตภัณฑ์ที่สามคือไก่และเกี๊ยวบรรจุในถุงเพาซ์ คุณภาพอาหารจากการแปรรูปด้วย MATS ดีกว่ากระบวนการฆ่าเชื้อด้วยไอน้ำแบบดั้งเดิมมาก เนื่องจากกระบวนการให้ความร้อนที่จุดร้อนที่สุดและจุดเย็นที่สุดใกล้เคียงกัน ในขณะที่การฆ่าเชื้อในรีทอร์ต ค่าความร้อนที่จุดร้อนที่สุดและจุดเย็นที่สุดต่างกันมาก การหาจุดที่เย็นที่สุดจำเป็นต่อความปลอดภัยอาหาร การหาจุดร้อนที่สุดบ่งบอกถึงคุณภาพอาหาร

การใช้ไมโครเวฟช่วยในการพาสเจอไรซ์และการฆ่าเชื้อด้วยอุณหภูมิสูงพิเศษ (UHT) ในระบบท่อ: ระบบพาสเจอไรซ์และระบบ UHT ใช้กับของเหลวและของเหลวผสมอนุภาค การทดสอบในนมและของเหลวที่มีโปรตีนสูง ไม่พบตะกรัน และใช้เวลาสั้นเมื่อเทียบกับการให้ความร้อนด้วยไอน้ำแบบดั้งเดิม ได้ผลผลิตที่มากขึ้นพร้อมกับคุณภาพที่ดีขึ้น โดยสี ประสาทสัมผัส และโภชนาการมีการเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด

 การใช้ไมโครเวฟช่วยในการละลายน้ำแข็ง

การใช้ไมโครเวฟช่วยในการละลายน้ำแข็งเป็นวิธีที่เร็วที่สุดในการละลายน้ำแข็งจากผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็ง เช่น เนื้อสัตว์ ปลา ผัก ผลไม้ เนย หรือน้ำผลไม้เข้มข้น คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าผ่านท่อนำคลื่นไปสัมผัสผลิตภัณฑ์เกิดความร้อนในการละลายน้ำแข็ง ใช้แมกนีตรอนขนาด 30 กิโลวัตต์ และ 896 เมกะเฮิรตซ์ คลื่นไมโครเวฟเข้าสู่ตู้อบทางท่อนำคลื่นที่ด้านบนและด้านล่าง

การใช้ไมโครเวฟช่วยในการละลายน้ำแข็ง: โดยทั่วไป ระบบควบคุมการละลายน้ำแข็งใช้กำลังไฟฟ้าของเตาไมโครเวฟ 10% ของกำลังที่มี การละลายแบบดั้งเดิมใช้เวลานานมาก ทำให้เกิดการสูญเสียน้ำ (drip loss) ความเสียหายของเนื้อสัมผัส และการเปลี่ยนสี จากการใช้ไมโครเวฟช่วยในการละลายน้ำแข็งใช้เวลาน้อยกว่าวิธีการอื่น นอกจากนั้น การรักษาปริมาณกรด แอสคอร์บิกในสตรอเบอร์รีดีขึ้นเมื่อละลายน้ำแข็งในเตาอบไมโครเวฟ

การใช้ไมโครเวฟช่วยในการละลายน้ำแข็งแบบต่อเนื่อง: สามารถใช้เตาอบไมโครเวฟแบบต่อเนื่องในโหมดเดี่ยวและหลายโหมดได้ โดยใช้กำลังไฟฟ้าต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ และควรละลายน้ำแข็งให้มีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง โดยปกติอยู่ที่ -1 ถึง -2 องศาเซลเซียส

 การใช้ไมโครเวฟช่วยการอบแห้ง

การใช้ไมโครเวฟช่วยการอบแห้งผลิตภัณฑ์อาหารมีข้อดี คือ อัตราการทำแห้งสูงมาก และช่วยปรับปรุงคุณภาพของอาหารกึ่งสำเร็จรูปโดยช่วยให้คืนรูปเร็ว ระดับการดูดกลืนพลังงานไมโครเวฟขึ้นอยู่กับความชื้นในผลิตภัณฑ์ เนื่องจากการให้ความร้อนเชิงปริมาตรในการทำให้แห้งด้วยไมโครเวฟทำให้เกิดไอน้ำภายในผลิตภัณฑ์ ทำให้แรงดันภายในสูงไล่ให้ไอน้ำออกจากผลิตภัณฑ์ ทำให้เกิดรูพรุนจำนวนมากส่งผลให้การคืนรูปง่ายและรวดเร็ว การทำแห้งด้วยไมโครเวฟส่งผลดีอย่างมากต่อสี ดัชนีการเกิดสีน้ำตาล ปริมาณแคโรทีนอยด์ และคะแนนการทดสอบทางประสาทสัมผัสของผลิตภัณฑ์

การใช้ไมโครเวฟช่วยในการอบแห้งที่บรรยากาศปกติ

มีการใช้ไมโครเวฟช่วยในการอบแห้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป พบว่าสามารถทำให้บะหมี่แห้งได้รวดเร็ว และคืนรูปเร็วภายใน 3 นาที โดยใช้น้ำร้อนที่ 90 องศาเซลเซียส ตัวอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโปรตีนสูงสามารถคืนรูปได้เร็วเช่นเดียวกัน

การใช้ไมโครเวฟช่วยในการทำแห้งแบบสุญญากาศ

เป็นการผสานการทำแห้งแบบสุญญากาศและการให้ความร้อนด้วยไมโครเวฟเป็นจังหวะ (pulse) ซึ่งช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพเชิงความร้อน การทำแห้งแบบสุญญากาศเป็นเทคนิคหนึ่งในการทำแห้งอาหารโดยใช้แรงดันอากาศต่ำลง ทำให้น้ำกลายเป็นไอที่จุดเดือดต่ำ การทำความร้อนด้วยไมโครเวฟถ่ายเทพลังงานจากการให้ความร้อนเชิงปริมาตรที่สามารถขจัดน้ำออกได้อย่างรวดเร็ว ผลิตภัณฑ์มีสีที่ดีมาก คุณภาพดี และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เนื่องจากมีออกซิเจนอยู่ในระบบน้อยมากและอุณหภูมิอยู่ในช่วง 40–60 องศาเซลเซียส

การใช้ไมโครเวฟช่วยในการทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง

เป็นเทคนิคที่รวดเร็วกว่าการทำแห้งแบบแช่เยือกแข็งแบบดั้งเดิม สำหรับอาหารที่ไวต่อความร้อนและวัสดุทางเภสัชกรรมและชีวภาพ เนื่องจากอุณหภูมิที่ต่ำมากในสถานะแช่เยือกแข็ง เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีการทำแห้งแบบดั้งเดิมและเทคโนโลยีไมโครเวฟสุญญากาศ ผลิตภัณฑ์ทำแห้งแบบแช่เยือกแข็งมีคุณภาพดีที่สุด แม้ว่ามีราคาแพงที่สุดเมื่อเทียบกับทั้งสามกระบวนการก็ตาม

การใช้ไมโครเวฟช่วยในการทำแห้งด้วยลมร้อน

เป็นการผสานการใช้อากาศร้อนเข้ากับการให้ความร้อนด้วยไมโครเวฟสามขั้นตอน ในขั้นแรก การให้ความร้อนด้วยไมโครเวฟ ขั้นที่สอง ทำให้แห้งอย่างรวดเร็ว โดยตั้งค่าอุณหภูมิที่เสถียรเพื่อให้ไอน้ำออกจากผลิตภัณฑ์ ทำให้เกิดโครงสร้างเป็นรูพรุนที่เรียกว่าการพองตัว (puffing) ในขั้นสุดท้าย ปริมาณความชื้นที่จุดศูนย์กลางของผลิตภัณฑ์ลดลงโดยการขจัดน้ำที่รวมอยู่กับอาหาร (bound water)

การใช้ไมโครเวฟช่วยในการทำแห้งแบบฟลูอิไดซ์เบด

อนุภาคที่เป็นของแข็งถูกผลักให้ลอยขึ้นด้วยกระแสอากาศ การถ่ายเทความร้อนและการถ่ายเทมวลที่สูงเกิดขึ้นระหว่างอากาศกับเฟสของแข็ง ดังนั้น การใช้ไมโครเวฟช่วยในการทำแห้งแบบฟลูอิไดซ์เบดจึงใช้สำหรับการทำให้แห้งวัสดุที่มีความชื้นและเป็นเม็ด

การใช้ไมโครเวฟช่วยในการทำแห้งแบบสเปาเต็ดเบด (spouted-bed)

เป็นการดัดแปลงเทคนิคฟลูอิไดซ์แบบดั้งเดิม โดยที่มีการกวนอนุภาคที่หยาบกว่าและผลักให้อนุภาคลอยตัวสูงกว่าแล้วตกลงอีกด้านและดันผลิตภัณฑ์ให้ลอยตัวซ้ำแล้วซ้ำอีก และช่วยให้การถ่ายเทความร้อนและมวลสูงยิ่งขึ้น การใช้ไมโครเวฟช่วยในการทำแห้งแบบสเปาเต็ดเบดทำให้ผลิตภัณฑ์มีเนื้อสัมผัสที่ดีขึ้น และลดเวลาในการผลิต

 การใช้ไมโครเวฟช่วยในการทำให้พอง (puffing)

การใช้ไมโครเวฟช่วยในการทำให้พองเหมาะสำหรับอบผลิตภัณฑ์เพื่อทดแทนการทอดในน้ำมันแบบน้ำมันท่วม การทำให้พองด้วยไมโครเวฟ อาหารที่มีความชื้นที่เหมาะสมได้รับคลื่นไมโครเวฟทำให้เกิดความร้อนในปริมาณกำลังวัตต์ที่เหมาะสมในเวลาที่เหมาะสม น้ำกลายเป็นไอน้ำ ดันผลิตภัณฑ์ให้พอง ผลิตภัณฑ์มีการเปลี่ยนเฟสจากกลาสเป็นรับเบอร์ทำให้พองได้มากขึ้น และเกิดการสูญเสียความชื้นจากการที่ไอน้ำพุ่งออกจากผลิตภัณฑ์เกิดรูพรุนจำนวนมากในผลิตภัณฑ์ เมื่อหยุดการให้ความร้อน ผลิตภัณฑ์จะมีอุณหภูมิลดลง ความชื้นลดลง และหดตัวลงโดยเปลี่ยนสภาพจากรับเบอร์มาเป็นกลาส ทำให้กรอบแบบไร้น้ำมัน

 การใช้ไมโครเวฟช่วยในการลวก

การลวกเป็นการปรับสภาพเพื่อรักษาคุณภาพของอาหารด้วยการหยุดการทำงานของเอนไซม์และการลดปริมาตรด้วยการขจัดอากาศที่ขังอยู่ในช่องว่างภายในเซลล์ และลดปริมาณจุลินทรีย์ สี กลิ่น และรสที่ไม่พึงประสงค์ การใช้ไมโครเวฟช่วยในการลวกใช้อุณหภูมิสูงในเวลาสั้น ๆ ทำให้ได้รสชาติที่ดีขึ้น ประหยัดพลังงานและเวลา และรักษาคุณค่าทางโภชนาการ

 การใช้ไมโครเวฟช่วยในการทอด

การทอดเป็นกระบวนการทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณสมบัติทางประสาทสัมผัสแบบเฉพาะ รวมถึงรสชาติ เนื้อสัมผัส และสี การใช้ไมโครเวฟช่วยในระบบทอดช่วยประหยัดพลังงาน ลดเวลาในการแปรรูป เปลี่ยนความดันภายในของผลิตภัณฑ์อย่างรวดเร็ว และรักษาคุณภาพน้ำมัน

 การใช้ไมโครเวฟช่วยในการสกัด (MAE)

การใช้ไมโครเวฟช่วยในการสกัดช่วยเพิ่มปริมาณสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่สกัดได้ ตัวอย่างและตัวทำละลายซึ่งวางอยู่ภายใต้คลื่นไมโครเวฟ ผลการวิจัยการใช้ MAE สกัดโพลีฟีนอลและคาเฟอีนจากใบชาเขียว พบว่าปริมาณโพลีฟีนอลและคาเฟอีนที่สกัดด้วยวิธี MAE สูงกว่าการสกัดด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงและการสกัดด้วยความร้อนภายใต้อุณหภูมิห้อง นอกจากนั้น MAE ช่วยลดเวลาในการสกัดและใช้แรงงานน้อยลง

 การใช้ไมโครเวฟช่วยในการอบผลิตภัณฑ์ขนมอบ

การอบแบบดั้งเดิมใช้การพาความร้อนและการนำความร้อน ส่วนการใช้ไมโครเวฟช่วยในการอบ ไมโครเวฟจะมีอันตรกิริยากับอนุภาคที่มีประจุและโมเลกุลมีขั้ว ทำให้อาหารร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว การใช้ไมโครเวฟช่วยในการอบส่งผลดีต่อคุณภาพของแป้งข้าวเจ้า ทำให้ดัชนีน้ำตาลลดลงเหลือ 61.67 จากเดิม 80.24 ของผลิตภัณฑ์ที่อบด้วยลมร้อน นอกจากนั้น เวลาอบลดลงจาก 30 นาที เหลือ 12 นาที การใช้ไมโครเวฟช่วยในการอบร่วมกับการให้ความร้อนด้วยรังสีอินฟราเรดช่วยลดเวลาและพลังงานในการอบมากยิ่งขี้น ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีกว่าเมื่อเทียบกับการอบด้วยไมโครเวฟเพียงอย่างเดียว

📌ข้อสังเกตและแนวโน้มในอนาคต

มีการใช้ไมโครเวฟทั่วไปในอุปกรณ์เครื่องใช้ในครัวเรือนอยู่ทุกวัน และมีการใช้ในกระบวนการระดับอุตสาหกรรมมาเป็นเวลาหลายปี จากการทบทวนเอกสารนี้ เทคโนโลยีการแปรรูปอาหารด้วยไมโครเวฟประสบความสำเร็จอย่างชัดเจนในการสร้างความปลอดภัยของอาหาร คุณภาพ และนวัตกรรมในผลิตภัณฑ์อาหารผ่านกระบวนการต่างๆ เทคโนโลยีไมโครเวฟในทศวรรษหน้าจะได้รับความนิยมมากขึ้นโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา อย่างไรก็ตาม ต้องมีการปรับปรุงการออกแบบเครื่องจักร การขยายการผลิตและวิศวกรรมกระบวนการ และการถ่ายทอดเทคโนโลยี การใช้เทคโนโลยีไมโครเวฟควรมีการสอนเชิงลึกในระดับมหาวิทยาลัย รวมทั้งนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารเพื่อเพิ่มพูนความรู้ ประสบการณ์ นวัตกรรม และการพัฒนาเทคโนโลยี